IP Address กับการระบุตัวตน “คนในเน็ต”
ในปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบอินเตอร์เน็ต กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตส่วนตัวของพวกเราหลายๆ คน
เมื่อเราเข้าไปในอินเตอร์เน็ต เราพบคนอื่นๆมากมาย ที่กำลังเล่นอินเตอร์เน็ตอยู่เหมือนเรา ผ่านกระดานสนทนา, web blog หรือ เว็บไซต์ต่างๆ มากมายหลายแบบ
แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ คนอื่นๆที่เราพบเจอ ผ่านทางอินเตอร์เน็ตนั้น ตัวจริงของพวกเขา เป็นใคร อยู่ที่ไหนกันบ้าง?
แน่นอนว่า คำถามว่า “เป็นใคร” นั้น เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก เนื่องจาก เว็บไซต์ส่วนมากในอินเตอร์เน็ตนั้น เป็นบริการสาธารณะ ไม่ว่าใคร ก็สามารถ “ตั้งชื่อ” แล้วเข้ามาใช้บริการได้ ตามแต่ความพึงพอใจของแต่ละคน ดังนั้น ในการระบุตัวตน ว่า คนที่เราเจอในอินเตอร์เน็ต “เป็นใคร” นั้น ก็ขึ้นกับนโยบายการเก็บข้อมูล ของเว็บไซต์ ที่บุคคลนั้น ใช้บริการอยู่ ว่ามีการขอข้อมูลอะไรบ้าง ในการสมัครใช้บริการครับ
ส่วนคำถามที่ว่า “อยู่ที่ไหน” นั้น โครงสร้างของระบบอินเตอร์เน็ต พอจะช่วยระบุให้เราได้ในระดับหนึ่ง ซึ่ง ประเภทของข้อมูล ที่ระบบอินเตอร์เน็ตใช้ระบุ “ที่อยู่” ของคนที่เข้ามาใช้บริการนั้น เรียกว่า IP Address
IP Address หรือที่เราเรียกสั้นๆกันว่า IP จริงๆแล้ว ย่อมาจาก Internet Protocol Address ซึ่ง คำว่า Address ก็เป็นความหมายเดียวกับคำว่า “ที่อยู่” ในภาษาไทยครับ ซึ่ง เราสามารถแปลรวมๆ คำว่า Internet Protocol Address ได้หมายความถึง “ที่อยู่ ในระบบอินเตอร์เน็ต” (ผมพยายามแปลให้ เป็นภาษาง่ายๆที่สุด โดยที่ยังคงความหมายเดียวกันอยู่ได้มากที่สุดนะครับ อาจจะไม่ตรงกันเป๊ะแบบ ศัพท์ต่อศัพท์นะครับ)
หากเรามอง โลกอินเตอร์เน็ต เปรียบเทียบกับโลกจริง IP Address ที่เห็นเป็นตัวเลข 4 วรรค อย่างเช่น 192.168.1.1 ก็เปรียบเหมือนกับ เลขที่บ้าน คำว่า “บ้าน” ในโลกจริง ก็คือ ที่ที่ คนอยู่ ในโลกอินเตอร์เน็ตนั้น “บ้าน” ก็คือ “เครื่องคอมพิวเตอร์” ที่คนคนนั้น กำลังเล่นอยู่ครับ
เมื่อเราต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา เข้าไปยังระบบอินเตอร์เน็ต คอมฯ เครื่องที่เราเล่น ก็จะกลายสภาพเป็น “บ้าน” ในระบบอินเตอร์เน็ต ของเราไปในทันที ซึ่ง “บ้าน” ก็ต้องมี “เลขที่บ้าน” ถูกไหมครับ
ดังนั้น ทันทีที่ คอมฯ ของเรา มีการเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ต คอมฯ ของเรา ก็จะได้รับ “เลขที่บ้าน” มาในทันที ซึ่ง เลขที่บ้าน ในที่นี้ ก็คือ IP Address ครับ
หน้าตาของ IP Address นั้น อย่างที่ได้เกริ่นนำ ประกอบด้วย ตัวเลขทั้งหมด 4 วรรค คั่นด้วย “.” อย่างเช่น 192.168.1.1 ซึ่ง ตัวเลข ในแต่ละวรรคนั้น ต้องอยู่ระหว่าง 0 ถึง 255 เท่านั้น ดังนั้น IP Address จึงสามารถ มีได้ทั้งหมด 255 x 255 x 255 x 255 = 4,228,250,625 แบบ ที่ไม่ซ้ำกันครับ
หากเราลองจินตนาการดู หากคอมฯทุกเครื่องในโลก ต่ออินเตอร์เน็ต แล้วได้ IP Address หมดทุกเครื่อง แล้วถ้า IP Address เปรียบเหมือนบ้านเลขที่ ก็ไม่ควรมีบ้านเลขที่ซ้ำกัน ถูกไหมครับ แสดงว่า มีคอมฯ ที่ต่ออินเตอร์เน็ต ทั่วทั้งโลก ได้มากสุดเต็มที่ ประมาณ 4,228 ล้านเครื่อง ถูกไหมครับ
ตอนนี้ ยังอาจพอยู่ครับ แต่ในอนาคตอันใกล้หล่ะ คงไม่พอชัวร์ๆ ถูกไหมครับ
ปัญหานี้ ผู้ที่ออกแบบระบบอินเตอร์เน็ตได้วางแผนป้องกันไว้เรียบร้อยแล้วครับ
ในโลกจริงนั้น ในการที่จะสามารถระบุตำแหน่งบ้านได้ นอกจากบ้านเลขที่แล้ว เราก็ยังใช้ชื่อถนน ในการระบุตำแหน่งบ้าน บางครั้ง บาน 2 หลัง อาจมีเลขที่เดียวกัน แต่อยู่คนละถนน เราก็สามารถแยกแยะตำแหน่ง ของบ้านแต่ละหลังได้ ถูกไหมครับ
ในโลกอินเตอร์เน็ตนั้น หาก IP Address เปรียบได้ดัง บ้านเลขที่ ในโลกจริง “โครงข่าย” ก็เปรียบได้ดังถนน เช่นกัน
คำว่า “โครงข่าย” ฟังดูเหมือนยิ่งใหญ่ครับ แต่จริงๆ โครงข่าย ก็คือ สายสัญญาณ ที่ทำหน้าที่นำสัญญาณอินเตอร์เน็ต มาสู่เครื่องคอมพิวเตอร์นั่นเอง พิจารณารูปด้านล่างนะครับ
ตามรูปด้านบน ผมว่าบ้านของหลายๆคน คงมีการต่อคอมฯเข้าอินเตอร์เน็ต ในลักษณะคล้ายๆ แบบนี้ คล้ายๆ แบบนี้ (หรือบางคนอาจจะเป็นแบบไร้สาย) หมายถึง ประกอบด้วย Router (ที่ต่อสายโทรศัพท์ ADSL) และ เครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ต่อสาย LAN ไปยัง Router ตัวสาย LAN ที่เชื่อมระหว่าง Router และ Computer นี่แหละ ที่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็น “โครงข่าย” อินเตอร์เน็ต ที่อยู่ในบ้าน หรือที่ทำงานเรานี่เอง (หรือบางบ้าน อาจเป็นโครงข่ายไร้สาย)
ทันที ที่เราต่อ Com 1 เข้าไปในโครงข่ายของเรา Com1 จะได้รับ “บ้านเลขที่” หรือ IP Address ทันที เพื่อใช้งานโครงข่าย ในบ้านของเรา
แล้ว IP Address ที่ Com1 ได้รับ จะมาจากที่ไหนหล่ะ
ในระบบอินเตอร์เน็ตนั้น IP Address หรือ “บ้านเลขที่” จะได้รับการจัดสรร จากผู้ดูแลโครงข่าย หรือ “ถนน” ที่คอมพิวเตอร์เราอยู่
แล้วโครงข่ายที่อยู่ในอาคารสำนักงาน หรือบ้านเรา ใครเป็นผู้ดูแล และจัดสรร IP Address หล่ะ
คำตอบก็คือ อุปกรณ์ Router1 ที่เราซื้อมาไงครับ ตัวนั้นแหละ เป็นผู้ดูแลโครงข่ายคอมพิวเตอร์ ในบ้านของเราเอง ซึ่ง IP Address ที่ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์เราได้รับนั้น ก็จะมาจาก อุปกรณ์ตัวเล็กๆ ที่เราซื้อ หรือได้แถมมาครับ
แล้วคราวนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา สามารถไปเข้าเว็บไซต์ต่างๆ ได้อย่างไรหล่ะ ในเมื่อต่ออยู่กับ “โครงข่าย” ส่วนตัว (ในบ้าน หรือในสำนักงาน) ของเราเอง
คำตอบ อยู่ที่ ตัว Router ทีเราใช้อยู่นี่แหละครับ เราจะเห็นว่า Router ที่เราใช้นั้น จะต้องต่อสายโทรศัพท์ ที่เรียกว่า ADSL จากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ที่เราใช้บริการอยู่ ไม่ว่าจะเป็น True, TOT หรือ TT&T สายสัญญาณเหล่านั้นแหละครับ ที่นำพาเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่บ้านของเรา ไปสู่โลกอินเตอร์เน็ต (โครงข่าย สากล) พิจารณา แผนภาพด้านล่างนะครับ
อินเตอร์เน็ตนั้น ถ้าว่ากันตรงๆ ก็คือ โครงข่ายสากล ที่เชื่อมคอมพิวเตอร์ทั้งหลายเข้าด้วยกัน โครงข่ายสากลนั้น เปรียบเหมือน ถนนเส้นใหญ่ ที่มีตึกรามบ้านช่องตั้งอยู่เต็มไปหมด (อาคาร (เครื่อง Server) ของ Siambrandname.com หรือ Google.com ก็ตั้งอยู่บนถนนเส้นหลักครับ) ส่วน โครงข่ายส่วนตัว ในบ้าน หรือ ในสำนักงานของเรานั้น เปรียบเหมือน ซอยย่อย ที่แตกออกมาจากถนนเส้นใหญ่
คำว่าโครงข่ายสากลนั้น จริงๆแล้ว มันคือ โครงข่ายส่วนตัวขนาดใหญ่ ของหลายๆคน มาเชื่อมต่อกัน จนครอบคลุมทั่วทั้งโลก จนทุกคนยอมรับกันว่า เป็นโครงข่ายสากล (ซึ่ง ไม่มีใครเป็นเจ้าของทั้งหมด) ครับ
คนที่มีโครงข่ายส่วนตัวขนาดใหญ่ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายสากลนั้น มีอยู่หลายราย (องค์กร) ซึ่งส่วนใหญ่ จะนำโครงข่ายของตน มาให้บริการให้เราต่ออินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งเราเรียกผู้ให้บริการเหล่านี้ว่า Internet Service Provider (ISP) ซึ่งในประเทศไทยเอง ก็มี ISP อยู่หลายราย ที่เรารู้จักกันดี ก็คือ True และ TOT ไงครับ
ดังนั้น เวลาที่เราจะใช้บริการอินเตอร์เน็ต ที่บ้าน หรือ สำนักงานของเรา เราจึงสามารถเลือกได้ว่า จะนำโครงข่ายส่วนตัวของเรา (ภายในอาคาร) ไปเชื่อมต่อกับโครงข่ายสากล ผ่านทางใคร ดังเช่น ที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “ใช้เน็ตทรู” หรือ “ใช้เน็ต องค์การฯ”
ย้อนกลับมาที่เรื่อง IP Address ต่อนะครับ จากที่เรารู้ว่า เจ้าของโครงข่าย จะเป็นคนกำหนด IP Address ของคอมพิวเตอร์ ที่อยู่ในโครงข่ายทั้งหมด ดังนั้น ในการต่ออินเตอร์เน็ต จากบ้าน หรือสำนักงานของเรานั้น เราก็ต้องเลือก ว่าจะต่อผ่าน ISP ไหน (โดยต่อผ่าน Router) ถูกไหมครับ ดังนั้น ISP นี่แหละ เป็นตัวกำหนด IP Address ของทั้งโครงข่ายส่วนตัวของเรา (เหมือนกับการให้เลขที่บ้าน เลขที่เดียว กับบ้านหลายหลัง ที่อยู่ในรั้วเดียวกัน)
แต่ IP Address ของคอมฯเรา ได้จาก Router ของเรานี่ แล้ว IP Address ที่ได้จาก ISP จะอยู่ที่ใครหล่ะ
คำตอบคือ อยู่ที่ตัว Router ที่เราใช้อยู่ครับ Router จะจำลองตัวเอง เป็นคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง ซึ่ง ต่อตรงกับโครงข่ายสากล (ผ่าน ISP) และทำหน้าที่เป็นตัวกลาง นำข้อมูลของคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในโครงข่ายของที่ตัวเองดูแลอยู่ ออกไป ในนาม (IP Address) ของตัวเอง รวมทั้ง รับข้อมูลจากโครงข่ายสากล และส่งผ่านกลับให้คอมพิวเตอร์ ที่อยู่ในโครงข่าย ที่ตัวเองดูแลอยู่
ดังนั้น เว็บไซต์ต่างๆ ที่มี Server ตั้งอยู่บนโครงข่ายสากล จะไม่เห็นมองเห็น IP ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราเล่น โดยตรง แต่จะมองเห็นแค่ IP ของ Router ที่เราใช้อยู่ ที่ได้รับจาก ISP เท่านั้นครับ
ซึ่ง IP Address ของ Router ของเรานั้น ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้อยู่เรื่อยๆ ตามการจัดสรรของ ISP ที่เราใช้อยู่
สมมุติว่า มีบ้านอยู่ 2 หลัง อยู่ติดกัน (หลัง A กับ หลัง B) ใช้อินเตอร์เน็ต ของ True ทั้งคู่ เมื่อวานนี้ ทั้งคู่ได้รับจัดสรร IP Address ที่แตกต่างกัน อยู่ค่าหนึ่ง แต่วันนี้ ทั้งคู่ อาจได้รับ IP Address ของอีกบ้านหนึ่ง ตอนเมื่อวานนี้ ก็ได้ (A วันนี้ได้รับ IP เดียวกับของ B เมื่อวาน ส่วน B วันนี้ ได้รับ IP เดียวกับ A เมื่อวาน)
พอย้อนกลับมาดู การบันทึก IP ของ Siambrandname.com เราสามารถบันทึก ได้เพียง IP ของ Router ที่ได้รับการจัดสรร จาก ISP เท่านั้น ซึ่ง ในการจัดสรร IP ของ ISP เราไม่สามารถกำหนด หรือทำนายการจัดสรร IP ได้ทั้งสิ้น
ซึ่ง ถ้าหาก สมาชิก 2 คน มี IP Address ที่บันทึกได้ ซ้ำกัน ก็ไม่แน่ว่า 2 คนนั้น จะเล่นเน็ตจากคอมเครื่องเดียวกัน หรือแม้แต่ สมาชิก 2 คน ไม่มี IP Address ซ้ำกัน แต่ก็อาจจะเล่นเน็ตจากคอมเครื่องเดียวกันก็ได้ครับ
พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆคน ก็คงจะเริ่มรู้สึกกลัว ว่าเราอาจระบุ “ที่อยู่” ไม่ได้ด้วยซ้ำ สำหรับบคุคลในอินเตอร์เน็ต แต่จริงๆแล้ว ในการเข้าถึงตัวผู้เล่นนั้น ผู้ที่จะสามารถระบุที่อยู่ได้มากที่สุด คือ ISP ครับ เพราะ กฏหมาย บังคับให้ ISP ทุกราย ต้องเก็บบันทึก การจัดสรร IP Address ในโครงข่ายตนอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น หากสงสัย ว่าคนคนนั้น เล่นอินเตอร์เน็ต อยู่ที่ไหน หาก ISP ได้รับข้อมูล IP Address ที่เขาเป็นคนจัดสรร พร้อมทั้ง เวลา ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ISP จะรู้ทันที ว่าจัดสรร IP นี้ ไปที่ใคร บ้านเลขที่เท่าไร
สำหรับ การเล่นอินเตอร์เน็ต ในร้านเน็ตนั้น ตอนนี้ กฏหมายเริ่มบังคับ ให้ร้านอินเตอร์เน็ต หรือ ทุกที่ ที่มีอินเตอร์เน็ตสาธารณะ เก็บบันทึกการจัดสรร IP Address ของ Router ของโครงข่ายของตนเองไว้ด้วย และร้านอินเตอร์เน็ต ยังต้องบันทึก หลักฐานระบุตัวตน เช่น เลขบัตรประชาชนของผู้เข้ามาใช้โครงข่าย ว่าเข้ามาใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องไหน เวลาเท่าไร ถึงเท่าไร
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ เมื่อนำมาเชื่อมกับข้อมูลที่ได้จาก ISP ก็จะเริ่มสามารถระบุ “ตัวตนที่แท้จริง” ของ “บุคคลในเน็ต” ได้แล้วครับ
ดังนั้นก่อนที่จะเขียนข้อความอะไร ลงในเว็บไซต์ต่างๆ ที่ให้บริการอยู่ในเน็ตนั้น ต้องระวังให้มากนะครับ เพราะสมัยนี้ เขาเริ่มตามถึงตัวกันได้แล้วครับ
ขอบคุณครับ ไว้โอกาสหน้า จะมาเขียนเรื่องราวอื่นๆ เพิ่มเติมนะครับ
ทีมเทคนิค Siambrandname.com
หมายเหตุ การอธิบายระบบการทำงานของอินเตอร์เน็ต ในเชิงเทคนิคนั้น ผมเพียงอธิบาย คอนเซปต์รวมๆ เพื่อให้อ่านแล้ว เข้าใจได้ง่ายที่สุด ไม่ได้ลงรายละเอียดถึงว่า อุปกรณ์ตัวใด ต้องเชื่อมกับตัวใด สายสัญญาณแบบไหน ต้องเชื่อมกับสายแบบไหน ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีความรู้ด้านนี้อยู่แล้ว และรู้สึกว่าผมอธิบายไม่ละเอียด สามารถช่วยขยายเพิ่มเติมได้โดย post ได้ในกระทู้นี้เลยนะครับ ขอบคุณมากครับ