บล็อกการเงิน
ดาวโจนส์เปิดบวกกว่า 200 จุด จับตาถ้อยแถลงพาวเวล-เยลเลน
by
, 25-03-21 at 13:57 (955 Views)
ดัชนีดาวโจนส์เปิดดีดตัวขึ้นกว่า 200 จุด โดยได้แรงหนุนจากหุ้นอินเทล ขณะที่นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ซึ่งจะแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันนี้ โดยนักลงทุนรอดูวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ
ณ เวลา 20.55 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 32,644.64 จุด เพิ่มขึ้น 221.49 จุด หรือ 0.68%
ดัชนีดาวโจนส์ได้แรงหนุนจากหุ้นอินเทล คอร์ป ที่บวก 1.35% หลังจากที่พุ่งขึ้นไปถึง 5.5% ในช่วงก่อนเปิดตลาด หลังจากที่บริษัทได้ประกาศแผนการเชิงรุกในการขยายกำลังการผลิต หวังทวงคืนตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรม
อินเทล ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐ ประกาศแผนลงทุน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่จำนวน 2 แห่งในรัฐแอริโซนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การพลิกฟื้นธุรกิจครั้งใหญ่ โดยรวมถึงการเปิดตัวบริการใหม่เพื่อรับจ้างผลิตชิปคอมพิวเตอร์ให้บริษัทอื่นๆ
แพต เกลซิงเกอร์ ซีอีโอคนใหม่ของอินเทล แถลงแผนกลยุทธ์ดังกล่าวในวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการเผยทิศทางธุรกิจครั้งแรกของเขาหลังรับตำแหน่ง โดยกลยุทธ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของอินเทลที่จะผลิตชิปโดยใช้โรงงานของตัวเองเป็นหลัก หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการถกเถียงกันในแวดวงอุตสาหกรรมว่าอินเทลควรถอนตัวออกจากการผลิต เนื่องจากบริษัทซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในแคลิฟอร์เนียแห่งนี้ตามหลังบรรดาคู่แข่งในเอเชีย เช่น ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง คอมพานี (TSMC) และซัมซุง
ในขณะเดียวกัน อินเทลเผยด้วยว่าบริษัทกำลังจะเปิดตัวบริการ Intel Foundry Services เพื่อรับจ้างผลิตชิปให้บริษัทอื่นๆ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของบริษัท และสร้างความแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นด้วยการเป็นทั้งผู้ออกแบบและผู้ผลิตชิป พอร์ตหุ้น
นักลงทุนจับตานายพาวเวล ประธานเฟด และนางเยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดจะแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันนี้ (24 มี.ค.) โดยทั้งสองจะแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และความสำคัญของการใช้นโยบายทางการเงินและการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยแล้วในคืนนี้ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. ซึ่งลดลงครั้งแรกในรอบ 10 เดือน
โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ลดลง 1.1% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8%
ขณะที่ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ลดลง 0.8% ในเดือนก.พ. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5%
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่าการร่วงลงของยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนอาจเป็นเพียงชั่วคราว โดยชี้ว่ายอดสั่งซื้อที่ลดลงในเดือนก.พ.นั้นเป็นเพราะสภาพอากาศที่หนาวจัดรุนแรงกว่าปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายพื้นที่ของสหรัฐ และคาดว่ายอดสั่งซื้อสินค้าคงทนน่าจะกลับมาดีดตัวขึ้นได้อีกครั้งหลังจากที่สหรัฐได้ผ่านพ้นฤดูหนาวรุนแรงแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเศรษฐกิจที่มีกำหนดเปิดเผยในคืนนี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต