บล็อกการเงิน
‘เงินบาท’วันนี้ เปิดตลาด ‘อ่อนค่า’ สุดในรอบ1เดือนที่31.42บาทต่อดอลลาร์
by
, 18-06-21 at 10:32 (975 Views)
‘เงินบาท’วันนี้ เปิดตลาด ‘อ่อนค่า’ สุดในรอบ1เดือนที่31.42บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 31.42 บาทต่อดอลลาร์ เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 1 เดือนที่ หรืออ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ31.40 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.35-31.50 บาทต่อดอลลาร์
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึง แรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ค้าทองคำที่เตรียมทยอย Buy on Dip ทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวลงมาใกล้ระดับแนวรับสำคัญ
ขณะเดียวกัน แรงกดดันฝั่งเงินบาทอ่อนค่ายังมาจากแรงขายหุ้นไทยสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับมา ตราบใดที่การแจกจ่ายวัคซีนยังมีปัญหา
อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมากหรืออ่อนค่าต่อเนื่องทะลุระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ เพราะผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ โดยเงินบาทมีแนวต้านสำคัญอยู่ที่ระดับ 31.50-31.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่าโอกาสทะลุระดับดังกล่าวมีไม่มากนัก
นอกจากนี้ เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง เรามองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจใช้จังหวะนี้ทยอยลดการถือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX Reserves) ลงบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐฯมองว่า ไทยมีการแทรกแซงค่าเงินในทิศทางเดียว หรือ เพื่อให้ FX reserves มีการลดลงบ้าง
ด้านผู้เล่นในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เนื่องจากในวันศุกร์นี้จะเป็นวันที่สัญญาออพชั่นและสัญญาฟิวเจอร์ ของบรรดาดัชนีและหุ้นรายตัวส่วนใหญ่ หมดอายุลง ทำให้อาจเกิดการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองสินทรัพย์และส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนสูงขึ้นได้
อย่างไรก็ดี บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างเดินหน้าเปลี่ยนกลุ่มหุ้น จากเดิมนักลงทุนเน้นธีม Cyclical & Value ก็เริ่มกลับมาลงทุนในกลุ่ม Tech & Growth หลังจากที่ ผลการประชุมเฟดสะท้อนว่า เฟดมีความมั่นใจต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเงินเฟ้อมากขึ้น จนเฟดเริ่มมองโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 ซึ่งมุมมองดังกล่าว ยังสะท้อนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ในช่วงกลางของวัฎจักรที่มักจะเป็นช่วงที่หุ้นในกลุ่มเทคฯ ให้ผลตอบแทนได้ดี
นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มเทคฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ กว่า 7bps สู่ระดับ 1.51% ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า +0.87% ขณะที่ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.04% ส่วน ดัชนี Dowjones ปิดลบกว่า -0.62% จากแรงเทขายหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิFinancial, Materials และ Industrials
อย่างไรก็ดี ในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นราว +0.15% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในเกือบทุกตลาด ยกเว้นในฝั่งอังกฤษที่ปรับตัวลดลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มกลับมาใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปโดยรวมยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Industrials ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกสินค้า อาทิสินค้าแบรนด์เนม รวมถึง ยานยนต์ หลังจากที่เงินยูโรอ่อนค่าลง ซึ่งส่งผลดีต่อแนวโน้มรายได้ของกลุ่มบริษัทที่มีการส่งออก (Kering +1.19%, Daimler +1.01%, Louis Vuitton +0.7%)
ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังเฟดส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 91.86 จุด สูงที่สุดในรอบเกือบ2 เดือน กดดันให้ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.191 ดอลลาร์ต่อยูโร
เช่นเดียวกับ เงินปอนด์ (GBP) ที่อ่อนค่าลงใกล้ระดับ 1.394 ดอลลาร์ต่อปอนด์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังได้กดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) โดย ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลงราว -1.7% สู่ระดับ 73 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับ ราคาทองคำ ที่ร่วงลงต่อเนื่องกว่า -2% สู่ระดับ 1,777 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ ราคาทองคำปรับตัวใกล้กับแนวรับของราคาทองคำ ทำให้อาจมีผู้เล่นบางส่วนรอจังหวะ Buy on Dip ทองคำได้
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย อาทิ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Balance Rate) ที่ระดับ -0.10% พร้อมทั้งเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินต่อไปหลังเศรษฐกิจในประเทศอาจฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงการแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้าไปมาก แม้ว่า ยอดการส่งออก (Exports) เดือนพฤษภาคม อาจโตขึ้นกว่า 50%y/y หนุนโดยจากความต้องการรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก